ใช้ชีวิตอยู่บนความรู้สึกไม่ดีพอ…อยู่ไหมหนอเรา?

เรื่องโดย อังครินทร์ ปิมแปง MA,LPC – เรียบเรียง และภาพประกอบโดย ณิชา หลีหเจริญกุล

ใช้ชีวิตอยู่บนความรู้สึกไม่ดีพอ…อยู่ไหมหนอเรา?

เนื้อหาหลักของบทความ

  1. ความรู้สึกอับอายอาจ เป็นสิ่งขับเคลื่อนให้ทำตามกฎเกณฑ์มากมายเพื่อจะได้เป็นคริสเตียนที่ดี
  2. ความอับอาย (shame) คือ ความรู้สึกที่เจ็บปวด หรือประสบการณ์ที่เราทำ หรือพลาดโอกาสได้ทำ แล้วส่งผลให้เราเชื่อว่า เราเป็นคนไร้ค่า และไม่สมควรได้รับการยอมรับ หรือเป็นที่รัก
  3. ชวนทุกคนมาฝึกการตระหนักรู้จักตนเองในเรื่องความอับอายที่ซ่อนอยู่ในจิตใจกัน

เมื่อก่อนตอนที่ตัวฉันเองเริ่มเป็นคริสเตียนใหม่ๆ มักจะติดอยู่กับแนวคิดที่ว่า เราต้องทำตามกฏเกณฑ์มากมายเพื่อจะได้เป็นคริสเตียนที่ดี เพื่อพิสูจน์กับครอบครัวว่า ความเชื่อใหม่ของเรานั้นดีกว่าความเชื่อเดิมเป็นไหนๆ ขออย่าเพิ่งเข้าใจผิดไปว่า กฏเกณฑ์นั้นไม่ดี หรือการเป็นคริสเตียนไม่ต้องทำตามกฎ หรือหลักข้อปฏิบัติต่างๆ  แต่กฏเกณฑ์ที่กำลังพูดถึงในทีนี้ คือ การพยายามทำตามมาตรฐานต่างๆ โดยไม่มีความเข้าใจ มันเลยกลายเป็นความกดดันที่จะต้องทำตามมาตรฐานสูงๆ เพื่อให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่เพียงแค่เป็นที่ยอมรับในสายตาคนอื่นนะ แต่ในสายตาของตัวเองนี่แหละ!!!

ทำไมหนอ การยอมรับ การเห็นใจ การเข้าใจความอ่อนแอ และการอ่อนโยนกับตัวเองมันช่างยากเย็นซะเหลือเกิน เราเลยสร้างกฎเกณฑ์ให้ตัวเองว่า จะต้องทำนั่น ทำนี่ให้ได้ เช่น พยายามตื่นมาเฝ้าเดี่ยวทุกเช้า อธิษฐานทุกวัน นมัสการ ไปเข้ากลุ่มเซลทุกอาทิตย์ และอื่นๆ อีกมากมาย หากทำตามรายการเหล่านี้ไม่ได้ ก็มักจะรู้สึกแย่กับตัวเองมากๆ แต่หากเราทำได้ก็จะรู้สึกดีกับตัวเอง แต่นั่นก็ยังไม่พอ เพราะถึงกระนั้นตัวเองก็ยังไม่วายแอบหวังลึกๆ อีกว่า ฉันต้องทำได้ดีกว่านี้สิ และพอทำไม่ได้ ก็กลับรู้สึกแย่กับตัวเองว่า ฉันเป็นคริสเตียนที่ไม่จริงจัง ชีวิตฉันไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ฉันมันช่างไร้ค่า พระเจ้าต้องไม่พอใจ ต้องไม่โปรดปรานฉันแน่ๆ!!!”

เจ้าความรู้สึกแบบนี้เนี่ย ที่คอยคิดว่าเมื่อฉันทำไม่ได้ แสดงว่า ฉันไม่ดีพอ ฉันเป็นคริสเตียนที่ไม่ดี ฉันไม่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า มันอาจเป็นไปได้ว่านั่นคือความรู้สึกอับอาย (shame) ในตนเอง เพราะเจ้าความอับอายนี่แหละที่เป็นวัชพืชที่เป็นศัตรูตัวร้าย คอยทำลายความงอกงามของเมล็ดพันธุ์ที่กำลังจะโผล่พ้นดิน และคอยกระซิบบอกเราว่า “เธอต้องทำให้ดีกว่านี้ เธอมันไม่มีค่าพอ ดูคนนั้นสิ เค้าทำได้ดีกว่าเธอ เธอมันช่างไร้ค่าสิ้นดี และอีกสาระพัดคำพูดตำหนิที่สรรหามาต่อว่าเรา

ความอับอาย (Shame) คือ ความรู้สึกที่เจ็บปวด หรือประสบการณ์ที่เราทำ หรือพลาดโอกาสได้ทำ แล้วส่งผลให้เราเชื่อว่า เราเป็นคนไร้ค่าและไม่สมควรได้รับการยอมรับหรือเป็นที่รัก (Brown, P.69)

เจ้าความอับอายมันช่างมีอำนาจซ่อนอยู่ลึกเกินกว่าที่เราอาจจะมองเห็นมันได้ชัด เพราะถ้าไม่ใช้จิตใจไตร่ตรองให้ดี มันอาจทำให้เราเชื่อว่า มันเป็นแรงผลักดันที่ดีเพื่อให้เราพยายามทำมากขึ้น เราจะได้เป็นคนดีขึ้น เก่งขึ้น แต่เอาเข้าจริง เรายังยอมรับตัวเองไม่ได้ ยังรักตัวเองไม่เป็น ยังไม่อ่อนโยน ไม่ให้โอกาสตัวเอง

เจ้าความอับอายอีกเหมือนกันที่คอยอยู่เบื้องหลังความเป็น perfectionist ของเรา เมื่อครั้งยังเป็นคริสเตียนใหม่ เจ้าความเป็นคนสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างต้องเป๊ะนี่แหละที่สร้างความเหนื่อยล้า ความท้อแท้ ความกลัว ความหยิ่งผยอง การตัดสิน การไม่มีใจเมตตาอ่อนโยนต่อตัวเอง

Self Check อยากชวนทุกคนมาฝึกการตระหนักรู้จักตนเองในเรื่องความอับอายที่ซ่อนอยู่ในจิตใจกัน แต่ๆๆๆ เราต้องสวมความอ่อนโยนต่อตัวเองก่อนที่เราจะเริ่มสำรวจความอับอาย ให้เราใช้เวลาสักครู่บอกกับตัวเองก่อนว่า เราจะใจดีกับตัวเองในกระบวนการสำรวจนี้

อย่างแรกให้เราทำความเข้าใจก่อนว่าเจ้าความอับอายนี้มันทำงานยังไง ความอับอายทำให้เราอยากหลบซ่อน ทั้งหลบซ่อนจากตัวตนของเรา หลบซ่อนจากผู้อื่น หรือแม้กระทั่งหลบซ่อนจากพระเจ้า

ในปฐมกาล พระเจ้าได้สร้างอดัมและเอวา และพวกเขาก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า แต่เมื่ออดัมกับเอวาได้ทำบาปโดยการไม่เชื่อฟังพระเจ้า ไปกินผลไม้จากต้นที่พระเจ้าห้ามกิน เขาก็เกิดความละอาย และเขาทั้งสองก็หลบซ่อนจากพระเจ้า ความอับอายได้เข้ามาบนโลกนี้ และเราก็เก็บเกี่ยวผลของมันนับตั้งแต่นั้น

เมื่อรู้แล้วว่า ความอับอายมีที่มาที่ไปยังไง ทีนี้ค่อยๆ เริ่มสำรวจเจ้าความอับอายที่มันซุกซ่อนตัวอยู่ในเรากันเลย!!!

1. สำรวจใจ

ลองสำรวจดูว่า มีคำกระซิบอะไรที่มันติดในใจเรา มีคำพูดไหนวนเวียนขึ้นมาในความคิดอยู่บ่อยๆ มันเป็นคำว่า “ฉันไม่ดีพอ ฉันไร้ค่า ไหมนะ

2. สำรวจพฤติกรรม

ลองสำรวจว่า เราพยายามหลีกเลี่ยงอะไรอยู่รึเปล่า เช่น เราพยายามเปลี่ยนเรื่องคุยไหม เมื่อเรารู้สึกมีอะไรมาสะกิดต่อมความอับอายของเรา หรือว่าเราพยายามทำตัวให้ดูเด่น พยายามทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างไม่มีที่ติเพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีค่าขึ้น หรือว่าเรากำลังตำหนิหรือกล่าวหาคนอื่นเพื่อให้ตัวเองดูดีขึ้น หรือในขณะที่อ่านบทความนี้เรามีอาการหายใจถี่ มีความคิดต่อต้าน หรืออยากเลิกอ่านบทความนี้ไปเลย!

เตือนตัวเองอีกสักครั้งว่า อย่าลืมสวมใจเมตตาต่อตัวเองเมื่อเราอยู่ในกระบวนการนี้ ให้เรามองมันเหมือนมันคือข้อมูลที่เราค้นพบ แยกมันออกจากตัวตนของเรา บอกกับตัวเองว่า เรากำลังเรียนรู้และเติบโต

การจะเอาชนะเจ้าความอับอายนั้น คือ การทำตรงข้ามกับสิ่งที่มันอยากให้เราทำคือ

  1. การฝึกเป็นฝ่ายเริ่มสร้างสัมพันธ์กับคนที่ไว้ใจได้ แทนที่จะหลบซ่อน หรือหลีกเลี่ยง
  2. เปิดเผยเรื่องราวอันเปราะบางที่เราพยายามจะปกปิดกับคนที่เราไว้ใจ หรือบอกกับพระเจ้า แทนการเก็บซ่อนให้มันเป็นความลับ

เหมือนศักเคียสผู้ที่เป็นคนเก็บภาษี คดโกงถูกตราหน้าว่าเป็นคนบาป แต่สิ่งหนึ่งที่ศักเคียสทำที่เป็นแบบอย่างที่ดี คือ เขาตัดสินใจที่จะไม่หลบซ่อนจากความอับอายของเขา จากการถูกตีตรา แต่เขาเลือกที่จะมาหาพระเยซู เลือกที่จะปีนขึ้นไปบนต้นไม้เพื่อได้เห็นพระเยซู และพระองค์ก็ทรงเห็นศักเคียสและเรียกศักเคียส

ศักเคียสเอ๋ย จงรีบลงมา เพราะว่าเราจะต้องพักอยู่ในบ้านของท่านวันนี้  เมื่อศักเคียสได้ยินดังนั้น  เขาจึงตอบพระเยซูไปว่า ดูเถิด พระองค์เจ้าข้า  ทรัพย์สิ่งของของข้าพระองค์  ข้าพระองค์ยอมให้คนอานาถาครึ่งหนึ่งและถ้าข้าพระองค์ได้ฉ้อโกงของของผู้ใด  ข้าพระองค์ยอมคืนให้เขาสี่เท่า – ลูกา 19:1-10

เมื่อศักเคียสกล้าที่จะออกมาจากความอับอายเขาได้รับการยอมรับจากพระเยซู สิ่งนี้ได้เปลี่ยนให้เขากลับใจใหม่ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เขากลายเป็นคนเก็บภาษีที่สัตย์ซื่อ เพราะเขาไม่ต้องหลบซ่อนตัวตนของตัวเองอีกต่อไป

เมื่อเริ่มเข้าใจ และรู้จักต้นตอของความพยายามเป็นคนสมบูรณ์แบบของตัวเอง ตัวเราเองก็ผ่านกระบวนการความเจ็บปวดในการยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ การเปิดเผยจุดที่เปราะบางและน่าอับอาย มันแปลกมากเลยที่สิ่งที่เคยเก็บซ่อนไว้ ไม่กล้าที่จะพูดถึง เพราะแม้แต่จะคิดก็ทำให้ใจเราหนักอึ้งแล้ว มันกลับกลายเป็นเรื่องที่เราเล่าได้ และเราก็ยอมรับมันว่ามันคือส่วนหนึ่งของเรื่องราวในชีวิตที่กำลังเติบโต แล้วเมื่อยอมรับ และเป็นมิตรกับความไม่สมบูรณ์แบบได้ เราก็ใช้ชีวิตคริสเตียนได้อย่างอ่อนโยนต่อตัวเองมากขึ้น กฎเกณฑ์ที่เคยเป็นเรื่องกดดันก็กลายเป็นสิ่งที่เราอยากทำตามด้วยความเต็มใจเพราะเรารู้ว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังกฎนั้นเห็นและยอมรับเรา

Self check ตระหนักรู้จักตนเองขอเป็นกำลังใจให้เราทุกคนในการผ่านกระบวนการนี้ไปด้วยกันด้วยความอ่อนโยนและใจเมตตาต่อตนเอง

Reference:

Brown, Brene. Daring Greatly. 2012, pp. 57-83.
Thai Holy Bible version TH1971

วันนี้ อารมณ์ไหน?

เรื่องโดย อังครินทร์ ปิมแปง และ ณิชา หลีหเจริญกุล – ภาพโดย ณิชา หลีหเจริญกุล

วันนี้ อารมณ์ไหน?

เราก็คงไม่ต่างกับหลายๆ คนที่โตมาในครอบครัวที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก จำได้ว่า เมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก ถ้าเราโดนแกล้ง เสียใจ หรือไม่ชอบใจอะไรซักอย่าง แล้วเราร้องไห้ แม่จะบอกให้หยุด ไม่ต้องร้องไห้แล้ว หรือบางทีถ้าเรายังไม่หยุดเราเองก็โดนดุต่อว่าซ้ำเข้าไปอีก

ความเสียใจแรกยังไม่ได้รับการปลอบเลย หนำซ้ำยังโดนทำร้ายจิตใจเพิ่มเข้าไปอีก ทีนี้แหละเรายิ่งร้อง ตะเบ็งเสียงดังจนต้องใช้เวลาและพลังงานพักใหญ่เลยกว่าจะสงบลงได้ พอโตขึ้นมาซักหน่อยเมื่อเรามีเรื่องรบกวนใจหรือเสียใจ เราเองก็จัดการกับมันโดยการพยายามกลบมันอยู่ข้างใน หรือการหาอะไรอย่างอื่นมาเบี่ยงเบนความสนใจออกไป ดีบ้าง พังบ้างสลับกันไป

เราไม่ได้จะมาตำหนิผู้ใหญ่หรอกที่เขาไม่ช่วยแถมยังซ้ำเติม เพราะพอเติบโตขึ้น ก็ เข้าใจอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น และเมื่อมองย้อนกลับไป ผู้ใหญ่เหล่านั้นเขาเองก็คงถูกปฏิบัติมาแบบนี้เหมือนกัน มันเลยกลายเป็นรูปแบบวิธีที่คุ้นเคย ทำให้เราเข้าใจความซับซ้อนของชีวิตมนุษย์เพิ่มขึ้น วันที่เราอยู่ในยุคสมัยที่เรื่องของสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย และเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกก็เป็นปัจจัยพื้นฐานของสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่บริบูรณ์ เรามองว่า เรื่องของสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ป้องกันดีกว่ามาแก้ไขภายหลังเป็นไหนๆ

Self Check เลยอยากจะชักชวนกันมาเรียนรู้ สำรวจ และรู้จักตัวเองไปด้วยกัน โดยครั้งนี้เราจะมาเสนอเนื้อหาเรื่องอารมณ์ หรือ Emotions

เป็นผู้ชายห้ามร้องไห้”

ถ้าไม่อยากให้ใครเห็นว่า เธอเป็นฝ่ายแพ้ ก็จงทำตัวเหมือนเธอไม่รู้สึกอะไร”

เรื่องแค่นี้ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป มองไปข้างหน้าดีกว่าจมอยู่กับอดีต”

คำพูดข้างต้นและอีกมากมายที่เราหลายคนคงเคยได้ยิน เราเองอาจเป็นคนที่พูดประโยคเหล่านี้ออกไปออกไป หรืออาจจะเป็นคนอื่นที่พูดออกมาด้วยเจตนาดี อยากจะปลอบใจ หากแต่เมื่อพิจารณาลงไปลึกๆแล้วจะเห็นว่าคำพูดดังกล่าวกำลังบอกว่าการแสดงออกทางอารมณ์เป็นการแสดงความอ่อนแอ บางคนอาจเคยได้ยิน หรือถูกปลูกฝังให้มีค่านิยมว่า คนที่ไม่แสดงความรู้สึกเป็นคนเข้มแข็ง คนที่ร้องไห้เป็นคนอ่อนแอ คนที่โกรธ โมโห หงุดหงิด โวยวาย เป็นคนก้าวร้าวไม่มีวุฒิภาวะ คนที่กลัวเป็นคนไม่กล้าหาญ ค่านิยมเหล่านี้ทำให้เกิดความเข้าใจว่า “ฉันต้องเก็บอารมณ์และห้ามแสดงความรู้สึกออกมา”

สมาคมจิตวิทยาประเทศสหรัฐอเมริกาได้ให้คำจำกัดความของคำว่า อารมณ์ ดังนี้ อารมณ์คือรูปแบบของปฏิกิริยาตอบสนองที่ซับซ้อน ที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์นั้นๆ ปฏิกิริยาทางร่างกาย และการตอบสนองในรูปแบบพฤติกรรม ทำหน้าที่เป็นกลไกการจัดการกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

ซึ่งประสบการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นอารมณ์ต่างๆ นั้น จะขึ้นอยู่กับแต่ละคน เช่น A และ B มีเหตุให้ต้องออกจากงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 A อาจจะรู้สึกเครียดมาก ในขณะที่ B อาจจะรู้สึกโกรธ ซึ่งทั้งสองคนมีสิทธิ์ที่จะรู้สึกแบบนั้น และควรอนุญาตให้ตัวเองได้รับรู้ถึงอารมณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ เราไม่ควรเปรียบเทียบ หรือตัดสินว่า ทั้ง A และ B ควรจะรู้สึกยังไง

หลายคนคงเข้าใจอาการมือสั่น หัวใจเต้นรัวๆ เมื่อเรารู้สึกประหม่า ต้องพรีเซ็นต์งานต่อหน้าคนเยอะๆ อุตส่าห์เตรียมตัวมาอย่างดี ฝึกพูดหน้ากระจก จดจำเนื้อหาสำคัญๆ ฝึกการตอบคำถามที่คนฟังอาจจะถามได้ แต่พอถึงวันจริง เกิดอาการตื่นเต้นมาก ใจเต้นเร็วจนเหมือนมันจะกระโดดออกมาข้างนอกได้ มือสั่น เหงื่อออกท่วมตัว จนแล้วจนรอดสิ่งที่เตรียมมาก็ลืมเหมือนถูกกลืนหายไปในกลีบเมฆ ปฏิกิริยาทางด้านร่างกายเหล่านี้ คือการตอบสนองต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นในระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งมีหน้าที่ในการเอาตัวรอดหรือการอยู่รอดของมนุษย์นั่นเอง

หน้าที่อย่างหนึ่งของอารมณ์มีไว้เพื่อช่วยให้เราอยู่รอด เราพึ่งพาอารมณ์เพื่อคอยเตือนให้รู้ว่า อันตรายกำลังเข้ามา เราจะมีวิธีตอบสนองอัตโนมัติ 3 อย่าง ได้แก่ สู้ หนี นิ่ง นอกจากช่วยให้อยู่รอดแล้ว อารมณ์ยังมีผลกับการตัดสินใจในการใช้ชีวิต เป็นแรงผลักดันให้เราทำบางอย่าง อารมณ์ช่วยให้คนอื่นเข้าใจความรู้สึกเรา และช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกคนอื่นเช่นกัน

มาถึงตรงนี้ ก็น่าจะรู้จักกับอารมณ์แบบคร่าวๆ กันแล้ว หวังว่า ทุกคนจะตระหนักถึงความสำคัญของอารมณ์ และหันมาใส่ใจ ทำความรู้จักอารมณ์ของตนเอง และของคนรอบตัวเรายิ่งขึ้น

Self Check อยากชวนมาทำความเข้าใจเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกผ่านตัวอย่างนี้กัน

“เห้ยยยย…ติดยังวะเนี่ยยยยย?”

A กรีดร้องถามตัวเองในใจ เพราะเพิ่งได้ข่าวว่า มีคนในบ้านของ A ไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีเชื้อโควิด เรื่องมีอยู่ว่า A อยู่บ้านกับสามีและน้องชายสามี ปกติน้องชายไม่ค่อยได้เจอ A และพี่ชายตัวเองเท่าไหร่ เย็นวันหนึ่งน้องชายส่งข้อความมาบอกพี่ชายว่า มีคนในบริษัทสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด เมื่อรู้ดังนี้ หลังจากบอก A แล้ว สามีก็ลงไปเคาะประตูถามไถ่น้องชาย แล้วกลับขึ้นมาเล่าให้ A ฟัง ไม่ทันที่ A จะได้ฟังสิ่งที่สามีเล่า A ต่อว่าสามีว่า ลงไปคุยกับน้องชายทำไม ในเมื่อรู้แล้วว่า น้องชายอยู่ใกล้กับคนที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด คืนนั้น A เครียดมากจนคิดจะกลับไปนอนบ้านแม่ตัวเอง แล้วปล่อยให้สามีอยู่กับน้องชายกันไปสองคน แต่เมื่อผลการตรวจโควิดจากคนในบริษัทคนนั้นออกมาเป็นลบ ก็แปลว่า A สามี และน้องชายสามีปลอดภัย

ลองมาเขย่ากันดูว่า A รู้สึกอะไร ร่างกายตอบสนองต่อความรู้สึกเหล่านั้นยังไง และพฤติกรรมที่มีต่อความรู้สึกเหล่านั้นคืออะไรบ้าง *บางคนอาจเหมือนหรือต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์แต่ละบุคคลนะคะ*

เห็นตัวอย่างของ A ไปแล้ว ทีนี้อยากชักชวนผู้อ่านให้ลองกลับมาสำรวจอารมณ์ของตัวคุณเองด้วยกันค่ะ เราจะมาสำรวจตัวเองใน 3 ด้านด้วยกันนะคะ

เริ่มจาก

  1. การสำรวจอารมณ์ที่กำลังรู้สึกอยู่ และมองหาเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นอารมณ์นั้น ๆ เราสามารถสำรวจตรวจสอบได้ทั้งอารมณ์ด้านบวกเช่น ความสุข สนุก ชื่นชมยินดี สันติสุข และอารมณ์ด้านลบ เช่น เศร้า เสียใจ โกรธ หงุดหงิด เมื่อรู้จักและเข้าใจอารมณ์และเหตุการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นแล้ว เราจะมาสู่กระบวนการสำรวจอารมณ์ตัวเองกันต่อเลยโดย
  2. การสังเกตปฏิกิริยาทางด้านร่างกาย ลองฝึกฟังเสียงการเต้นของหัวใจว่ามันเร็วขึ้นมั้ย ลองสังเกตจังหวะการหายใจของตัวเองว่าถี่ขึ้น หรือสั้นลง มีอาการแน่นหน้าอก มวนท้องรึเปล่า อาการต่างๆ เหล่านี้ อาจจะเหมือนกันบ้าง ต่างกันไปก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ขั้นตอนสุดท้ายของ self check ตระหนัก รู้จักตนเอง เข้าใจอารมณ์ตัวเอง ให้ลอง
  3. สังเกตพฤติกรรมตอบสนองต่ออารมณ์นั้นๆ เช่น คุณมักจะเก็บความรู้สึกไว้ในใจอยู่คนเดียวเมื่อมีเรื่องให้ไม่สบายใจ  หรือว่า คุณมักจะขึ้นเสียง ตำหนิ ต่อว่าเมื่อกำลังหงุดหงิด

อ่านกันยาวมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงได้รู้จัก และเข้าใจอารมณ์ของตัวเองแล้วว่ามันมีพลังขนาดไหน และอารมณ์สำคัญยังไงต่อพฤติกรรม คิดว่าแต่ละคนคงไม่อยากให้อารมณ์ลบๆ มันเอ่อล้นจนทะลักออกมาเป็นภัยต่อตัวเองและคนที่เรารักกันอย่างแน่นอน

Self check จึงอยากชวนกันมาเรียนรู้ และฝึกฝนการรับมืออารมณ์เบื้องต้น

โดยลองใช้ตัวอย่างของ A ที่วิตกกังวล และกลัวติดเชื้อโควิด

วิธีรับมือกับอารมณ์เบื้องต้น

ถ้าคุณเป็น A คุณจะทำยังไง จะรับมือกับความรู้สึกกลัว วิตกกังวล ยังไงได้บ้าง

วิธีที่หนึ่ง ลองหยุดนิ่งสักครู่ ฝึกการหายใจ หรือจดจ่อกับการทรงสถิตอยู่ของพระเจ้า

  1. นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย ผ่อนคลาย
  2. ตรวจเช็คร่างกายว่า ส่วนไหนตึง เกร็ง หรือปวด จากนั้นวางมือไว้ที่ส่วนนั้น เช่น แน่นหน้าอก หรือปวดหัว
  3. เริ่มต้นด้วยการหายใจเข้าลึกๆ กลั้นเอาไว้ แล้วนับ 1-2-3-4 จากนั้นหายใจออกช้า ๆ ยาว ๆ พร้อมกับนับ 1-2-3-4-5-6
  4. ลองปรับการนับเลขเป็นการอธิษฐาน เช่น หายใจเข้าลึกๆ กลั้นเอาไว้พร้อมกับพูดในใจว่า “จงนิ่งเสีย” จากนั้นหายใจออกช้าๆ ยาวๆ พร้อมกับพูดในใจว่า “และรู้เถิดว่า เราคือพระเจ้า” หรือข้อพระคัมภีร์อื่นๆ ที่เราชอบ
  5. ชวนให้ทำซ้ำ ข้อ 2-4 จนรู้สึกว่า ความกังวลในร่างกายสงบลง

วิธีที่สอง ลองสังเกตอารมณ์และความคิดผ่านการเขียน เพื่อระบายและช่วยแยกความคิดกับความรู้สึกรบกวนใจออกมา เหมือนยกเอาเรื่องในหัวออกมาไว้ข้างนอก แล้วทบทวนสังเกตเรื่องเหล่านี้ในฐานะบุคคลที่สาม จะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น และเข้าใจตัวเองมากขึ้น หรืออาจจะเขียนเป็นคำอธิษฐานที่เหมือนเรากำลังเล่าเรื่องให้พระเจ้าฟังก็ได้

  1. หาสมุดบันทึกซักเล่ม
  2. เขียนบรรยายเรื่องรบกวนใจ แล้วถามตัวเองว่า
    1. ฉันรู้สึกอะไร
    2. เพราะอะไรทำให้ฉันรู้สึกแบบนั้น
    3. ฉันต้องการอะไร
    4. เพราะอะไรฉันจึงต้องการแบบนั้น
    5. สิ่งที่ฉันต้องการนั้นเพื่ออะไร / ความต้องการนี้จะตอบโจทย์หรือเป้าหมายอะไรในใจฉัน

วิธีที่สาม ลองแบ่งปันประสบการณ์กับคนที่เข้าใจหรือผู้รับฟังที่ดี เพราะ…

  1. ความสัมพันธ์ที่ดีสร้างบรรยากาศอารมณ์ด้านบวก
  2. การเล่าความทุกข์ใจให้คนที่เข้าใจและยอมรับในความรู้สึกของเราฟังก็เป็นช่วยคลายความกังวล และความกลัวได้อย่างวิเศษทีเดียว มันเหมือนเป็นการยกภูเขาหนักๆ ออกจากอก เราไม่ต้องแบกมันไว้คนเดียวอีกต่อไป

มาถึงตอนท้ายของ Self Check ตอน “วันนี้ อารมณ์ไหน?” กันแล้ว หวังว่า ทุกคนจะหันมาใส่ใจ และทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเองเพื่อเกิดการตระหนัก รู้จักตนเองมากขึ้นนะคะ

อ้างอิง

https://dictionary.apa.org/emotion

Cherry, K. (2019, July 17). Emotions and Types of Emotional Responses. In verywellmind.com. Retrieved from https://www.verywellmind.com/what-are-emotions-279517