กิจกรรมเครือข่ายสุขใจวันที่ 8 มีนาคม 2564

กิจกรรมเครือข่ายสุขใจวันที่ 8 มีนาคม 2564

จัดโดยเครือข่ายสุขใจโดยสมาคมการให้คำปรึกษาแนวทางคริสเตียนในประเทศไทย ร่วมกับ วิทยาลัยพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี

9:00-10:15 น. ประชุมประสานงานและพบปะสมาชิกสุขใจ ที่วิทยาลัยพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี
**รับได้จำนวนจำกัด 20 ท่าน
10:15-10: 30 น. พักเบรค (Break)
10:30-12:00 น. การอบรม “Brain and Disciple Making” (การเข้าใจสมองและการสร้างสาวก) โดย ศจ. ดร. เอสเธอร์ เวคแมน

สามารถเข้าร่วมได้ 2 ช่องทาง

(1) ที่วิทยาลัยพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี **รับได้จำนวนจำกัด 20 ท่าน
(2) ทาง Zoom Conference **ไม่เกิน 100 ท่าน

12:00 น. รับประทานอาหารร่วมกัน **รับได้จำนวนจำกัด 20 ท่าน

ลงทะเบียนภายในวันที่ 4 มีนาคม 2564 (**ไม่มีค่าใช้จ่าย)
ลงทะเบียนได้ที่ลิงค์นี้ https://forms.gle/TbMNHNdoHEraSBEp6
หากท่านมีคำถามสามารถติดต่อได้ที่ 098-808-2927 หรือ admin@ccat-th.org

วันนี้ อารมณ์ไหน?

เรื่องโดย อังครินทร์ ปิมแปง และ ณิชา หลีหเจริญกุล – ภาพโดย ณิชา หลีหเจริญกุล

วันนี้ อารมณ์ไหน?

เราก็คงไม่ต่างกับหลายๆ คนที่โตมาในครอบครัวที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก จำได้ว่า เมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก ถ้าเราโดนแกล้ง เสียใจ หรือไม่ชอบใจอะไรซักอย่าง แล้วเราร้องไห้ แม่จะบอกให้หยุด ไม่ต้องร้องไห้แล้ว หรือบางทีถ้าเรายังไม่หยุดเราเองก็โดนดุต่อว่าซ้ำเข้าไปอีก

ความเสียใจแรกยังไม่ได้รับการปลอบเลย หนำซ้ำยังโดนทำร้ายจิตใจเพิ่มเข้าไปอีก ทีนี้แหละเรายิ่งร้อง ตะเบ็งเสียงดังจนต้องใช้เวลาและพลังงานพักใหญ่เลยกว่าจะสงบลงได้ พอโตขึ้นมาซักหน่อยเมื่อเรามีเรื่องรบกวนใจหรือเสียใจ เราเองก็จัดการกับมันโดยการพยายามกลบมันอยู่ข้างใน หรือการหาอะไรอย่างอื่นมาเบี่ยงเบนความสนใจออกไป ดีบ้าง พังบ้างสลับกันไป

เราไม่ได้จะมาตำหนิผู้ใหญ่หรอกที่เขาไม่ช่วยแถมยังซ้ำเติม เพราะพอเติบโตขึ้น ก็ เข้าใจอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น และเมื่อมองย้อนกลับไป ผู้ใหญ่เหล่านั้นเขาเองก็คงถูกปฏิบัติมาแบบนี้เหมือนกัน มันเลยกลายเป็นรูปแบบวิธีที่คุ้นเคย ทำให้เราเข้าใจความซับซ้อนของชีวิตมนุษย์เพิ่มขึ้น วันที่เราอยู่ในยุคสมัยที่เรื่องของสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย และเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกก็เป็นปัจจัยพื้นฐานของสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่บริบูรณ์ เรามองว่า เรื่องของสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ป้องกันดีกว่ามาแก้ไขภายหลังเป็นไหนๆ

Self Check เลยอยากจะชักชวนกันมาเรียนรู้ สำรวจ และรู้จักตัวเองไปด้วยกัน โดยครั้งนี้เราจะมาเสนอเนื้อหาเรื่องอารมณ์ หรือ Emotions

เป็นผู้ชายห้ามร้องไห้”

ถ้าไม่อยากให้ใครเห็นว่า เธอเป็นฝ่ายแพ้ ก็จงทำตัวเหมือนเธอไม่รู้สึกอะไร”

เรื่องแค่นี้ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป มองไปข้างหน้าดีกว่าจมอยู่กับอดีต”

คำพูดข้างต้นและอีกมากมายที่เราหลายคนคงเคยได้ยิน เราเองอาจเป็นคนที่พูดประโยคเหล่านี้ออกไปออกไป หรืออาจจะเป็นคนอื่นที่พูดออกมาด้วยเจตนาดี อยากจะปลอบใจ หากแต่เมื่อพิจารณาลงไปลึกๆแล้วจะเห็นว่าคำพูดดังกล่าวกำลังบอกว่าการแสดงออกทางอารมณ์เป็นการแสดงความอ่อนแอ บางคนอาจเคยได้ยิน หรือถูกปลูกฝังให้มีค่านิยมว่า คนที่ไม่แสดงความรู้สึกเป็นคนเข้มแข็ง คนที่ร้องไห้เป็นคนอ่อนแอ คนที่โกรธ โมโห หงุดหงิด โวยวาย เป็นคนก้าวร้าวไม่มีวุฒิภาวะ คนที่กลัวเป็นคนไม่กล้าหาญ ค่านิยมเหล่านี้ทำให้เกิดความเข้าใจว่า “ฉันต้องเก็บอารมณ์และห้ามแสดงความรู้สึกออกมา”

สมาคมจิตวิทยาประเทศสหรัฐอเมริกาได้ให้คำจำกัดความของคำว่า อารมณ์ ดังนี้ อารมณ์คือรูปแบบของปฏิกิริยาตอบสนองที่ซับซ้อน ที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์นั้นๆ ปฏิกิริยาทางร่างกาย และการตอบสนองในรูปแบบพฤติกรรม ทำหน้าที่เป็นกลไกการจัดการกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

ซึ่งประสบการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นอารมณ์ต่างๆ นั้น จะขึ้นอยู่กับแต่ละคน เช่น A และ B มีเหตุให้ต้องออกจากงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 A อาจจะรู้สึกเครียดมาก ในขณะที่ B อาจจะรู้สึกโกรธ ซึ่งทั้งสองคนมีสิทธิ์ที่จะรู้สึกแบบนั้น และควรอนุญาตให้ตัวเองได้รับรู้ถึงอารมณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ เราไม่ควรเปรียบเทียบ หรือตัดสินว่า ทั้ง A และ B ควรจะรู้สึกยังไง

หลายคนคงเข้าใจอาการมือสั่น หัวใจเต้นรัวๆ เมื่อเรารู้สึกประหม่า ต้องพรีเซ็นต์งานต่อหน้าคนเยอะๆ อุตส่าห์เตรียมตัวมาอย่างดี ฝึกพูดหน้ากระจก จดจำเนื้อหาสำคัญๆ ฝึกการตอบคำถามที่คนฟังอาจจะถามได้ แต่พอถึงวันจริง เกิดอาการตื่นเต้นมาก ใจเต้นเร็วจนเหมือนมันจะกระโดดออกมาข้างนอกได้ มือสั่น เหงื่อออกท่วมตัว จนแล้วจนรอดสิ่งที่เตรียมมาก็ลืมเหมือนถูกกลืนหายไปในกลีบเมฆ ปฏิกิริยาทางด้านร่างกายเหล่านี้ คือการตอบสนองต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นในระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งมีหน้าที่ในการเอาตัวรอดหรือการอยู่รอดของมนุษย์นั่นเอง

หน้าที่อย่างหนึ่งของอารมณ์มีไว้เพื่อช่วยให้เราอยู่รอด เราพึ่งพาอารมณ์เพื่อคอยเตือนให้รู้ว่า อันตรายกำลังเข้ามา เราจะมีวิธีตอบสนองอัตโนมัติ 3 อย่าง ได้แก่ สู้ หนี นิ่ง นอกจากช่วยให้อยู่รอดแล้ว อารมณ์ยังมีผลกับการตัดสินใจในการใช้ชีวิต เป็นแรงผลักดันให้เราทำบางอย่าง อารมณ์ช่วยให้คนอื่นเข้าใจความรู้สึกเรา และช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกคนอื่นเช่นกัน

มาถึงตรงนี้ ก็น่าจะรู้จักกับอารมณ์แบบคร่าวๆ กันแล้ว หวังว่า ทุกคนจะตระหนักถึงความสำคัญของอารมณ์ และหันมาใส่ใจ ทำความรู้จักอารมณ์ของตนเอง และของคนรอบตัวเรายิ่งขึ้น

Self Check อยากชวนมาทำความเข้าใจเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกผ่านตัวอย่างนี้กัน

“เห้ยยยย…ติดยังวะเนี่ยยยยย?”

A กรีดร้องถามตัวเองในใจ เพราะเพิ่งได้ข่าวว่า มีคนในบ้านของ A ไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีเชื้อโควิด เรื่องมีอยู่ว่า A อยู่บ้านกับสามีและน้องชายสามี ปกติน้องชายไม่ค่อยได้เจอ A และพี่ชายตัวเองเท่าไหร่ เย็นวันหนึ่งน้องชายส่งข้อความมาบอกพี่ชายว่า มีคนในบริษัทสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด เมื่อรู้ดังนี้ หลังจากบอก A แล้ว สามีก็ลงไปเคาะประตูถามไถ่น้องชาย แล้วกลับขึ้นมาเล่าให้ A ฟัง ไม่ทันที่ A จะได้ฟังสิ่งที่สามีเล่า A ต่อว่าสามีว่า ลงไปคุยกับน้องชายทำไม ในเมื่อรู้แล้วว่า น้องชายอยู่ใกล้กับคนที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด คืนนั้น A เครียดมากจนคิดจะกลับไปนอนบ้านแม่ตัวเอง แล้วปล่อยให้สามีอยู่กับน้องชายกันไปสองคน แต่เมื่อผลการตรวจโควิดจากคนในบริษัทคนนั้นออกมาเป็นลบ ก็แปลว่า A สามี และน้องชายสามีปลอดภัย

ลองมาเขย่ากันดูว่า A รู้สึกอะไร ร่างกายตอบสนองต่อความรู้สึกเหล่านั้นยังไง และพฤติกรรมที่มีต่อความรู้สึกเหล่านั้นคืออะไรบ้าง *บางคนอาจเหมือนหรือต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์แต่ละบุคคลนะคะ*

เห็นตัวอย่างของ A ไปแล้ว ทีนี้อยากชักชวนผู้อ่านให้ลองกลับมาสำรวจอารมณ์ของตัวคุณเองด้วยกันค่ะ เราจะมาสำรวจตัวเองใน 3 ด้านด้วยกันนะคะ

เริ่มจาก

  1. การสำรวจอารมณ์ที่กำลังรู้สึกอยู่ และมองหาเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นอารมณ์นั้น ๆ เราสามารถสำรวจตรวจสอบได้ทั้งอารมณ์ด้านบวกเช่น ความสุข สนุก ชื่นชมยินดี สันติสุข และอารมณ์ด้านลบ เช่น เศร้า เสียใจ โกรธ หงุดหงิด เมื่อรู้จักและเข้าใจอารมณ์และเหตุการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นแล้ว เราจะมาสู่กระบวนการสำรวจอารมณ์ตัวเองกันต่อเลยโดย
  2. การสังเกตปฏิกิริยาทางด้านร่างกาย ลองฝึกฟังเสียงการเต้นของหัวใจว่ามันเร็วขึ้นมั้ย ลองสังเกตจังหวะการหายใจของตัวเองว่าถี่ขึ้น หรือสั้นลง มีอาการแน่นหน้าอก มวนท้องรึเปล่า อาการต่างๆ เหล่านี้ อาจจะเหมือนกันบ้าง ต่างกันไปก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ขั้นตอนสุดท้ายของ self check ตระหนัก รู้จักตนเอง เข้าใจอารมณ์ตัวเอง ให้ลอง
  3. สังเกตพฤติกรรมตอบสนองต่ออารมณ์นั้นๆ เช่น คุณมักจะเก็บความรู้สึกไว้ในใจอยู่คนเดียวเมื่อมีเรื่องให้ไม่สบายใจ  หรือว่า คุณมักจะขึ้นเสียง ตำหนิ ต่อว่าเมื่อกำลังหงุดหงิด

อ่านกันยาวมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงได้รู้จัก และเข้าใจอารมณ์ของตัวเองแล้วว่ามันมีพลังขนาดไหน และอารมณ์สำคัญยังไงต่อพฤติกรรม คิดว่าแต่ละคนคงไม่อยากให้อารมณ์ลบๆ มันเอ่อล้นจนทะลักออกมาเป็นภัยต่อตัวเองและคนที่เรารักกันอย่างแน่นอน

Self check จึงอยากชวนกันมาเรียนรู้ และฝึกฝนการรับมืออารมณ์เบื้องต้น

โดยลองใช้ตัวอย่างของ A ที่วิตกกังวล และกลัวติดเชื้อโควิด

วิธีรับมือกับอารมณ์เบื้องต้น

ถ้าคุณเป็น A คุณจะทำยังไง จะรับมือกับความรู้สึกกลัว วิตกกังวล ยังไงได้บ้าง

วิธีที่หนึ่ง ลองหยุดนิ่งสักครู่ ฝึกการหายใจ หรือจดจ่อกับการทรงสถิตอยู่ของพระเจ้า

  1. นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย ผ่อนคลาย
  2. ตรวจเช็คร่างกายว่า ส่วนไหนตึง เกร็ง หรือปวด จากนั้นวางมือไว้ที่ส่วนนั้น เช่น แน่นหน้าอก หรือปวดหัว
  3. เริ่มต้นด้วยการหายใจเข้าลึกๆ กลั้นเอาไว้ แล้วนับ 1-2-3-4 จากนั้นหายใจออกช้า ๆ ยาว ๆ พร้อมกับนับ 1-2-3-4-5-6
  4. ลองปรับการนับเลขเป็นการอธิษฐาน เช่น หายใจเข้าลึกๆ กลั้นเอาไว้พร้อมกับพูดในใจว่า “จงนิ่งเสีย” จากนั้นหายใจออกช้าๆ ยาวๆ พร้อมกับพูดในใจว่า “และรู้เถิดว่า เราคือพระเจ้า” หรือข้อพระคัมภีร์อื่นๆ ที่เราชอบ
  5. ชวนให้ทำซ้ำ ข้อ 2-4 จนรู้สึกว่า ความกังวลในร่างกายสงบลง

วิธีที่สอง ลองสังเกตอารมณ์และความคิดผ่านการเขียน เพื่อระบายและช่วยแยกความคิดกับความรู้สึกรบกวนใจออกมา เหมือนยกเอาเรื่องในหัวออกมาไว้ข้างนอก แล้วทบทวนสังเกตเรื่องเหล่านี้ในฐานะบุคคลที่สาม จะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น และเข้าใจตัวเองมากขึ้น หรืออาจจะเขียนเป็นคำอธิษฐานที่เหมือนเรากำลังเล่าเรื่องให้พระเจ้าฟังก็ได้

  1. หาสมุดบันทึกซักเล่ม
  2. เขียนบรรยายเรื่องรบกวนใจ แล้วถามตัวเองว่า
    1. ฉันรู้สึกอะไร
    2. เพราะอะไรทำให้ฉันรู้สึกแบบนั้น
    3. ฉันต้องการอะไร
    4. เพราะอะไรฉันจึงต้องการแบบนั้น
    5. สิ่งที่ฉันต้องการนั้นเพื่ออะไร / ความต้องการนี้จะตอบโจทย์หรือเป้าหมายอะไรในใจฉัน

วิธีที่สาม ลองแบ่งปันประสบการณ์กับคนที่เข้าใจหรือผู้รับฟังที่ดี เพราะ…

  1. ความสัมพันธ์ที่ดีสร้างบรรยากาศอารมณ์ด้านบวก
  2. การเล่าความทุกข์ใจให้คนที่เข้าใจและยอมรับในความรู้สึกของเราฟังก็เป็นช่วยคลายความกังวล และความกลัวได้อย่างวิเศษทีเดียว มันเหมือนเป็นการยกภูเขาหนักๆ ออกจากอก เราไม่ต้องแบกมันไว้คนเดียวอีกต่อไป

มาถึงตอนท้ายของ Self Check ตอน “วันนี้ อารมณ์ไหน?” กันแล้ว หวังว่า ทุกคนจะหันมาใส่ใจ และทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเองเพื่อเกิดการตระหนัก รู้จักตนเองมากขึ้นนะคะ

อ้างอิง

https://dictionary.apa.org/emotion

Cherry, K. (2019, July 17). Emotions and Types of Emotional Responses. In verywellmind.com. Retrieved from https://www.verywellmind.com/what-are-emotions-279517

ร่วมพบปะสมาชิกในเครือข่ายสุขใจ

ร่วมพบปะสมาชิกในเครือข่ายสุขใจ

ขอเชิญร่วมพบปะสมาชิกในเครือข่ายสุขใจ (Sukjai Network by CCAT)
เพื่อประสานงานและเรียนรู้ร่วมกันในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพจิตในคริสตจักรในปี 2564 นี้ค่ะ
**หมายเหตุ: รายละเอียดและกิจกรรมในแต่ละครั้งจะประชาสัมพันธ์ทางเพจของสมาคมและเว็บไซต์นะคะ

คำพูดที่ไม่ควรพูดกับคนที่ส่งสัญญาณคิดฆ่าตัวตาย

บทความ

คำพูดที่ไม่ควรพูดกับคนที่ส่งสัญญาณคิดฆ่าตัวตาย

มาถึง Ep. สุดท้ายของเนื้อหาเรื่องการฆ่าตัวตาย ในตอนก่อนหน้านี้เราพอจะรับรู้แล้วว่า คนที่มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือถึงขั้นอยากฆ่าตัวตายนั้น จิตใจภายในของเขามีความเจ็บปวด มองไม่เห็นหนทาง และเป้าหมายในการมีชีวิตต่อ การมองไม่เห็นค่าของตนเอง ความกลัวต่อสายตา และการตัดสินจากคนรอบข้างก็กดเขาไว้อย่างหนักหน่วง สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เขาไม่กล้าที่จะเปิดใจ เล่าเรื่องที่หนักอึ้งให้ใครต่อใครฟัง

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เขาไม่ต้องการกำลังใจ ความเข้าใจ ความห่วงใยจากคนรอบข้าง ก้นบึ้งในใจของเขานั้น ในวันที่เขาก็รู้สึกไม่ปลอดภัยกับตัวเอง เขาอาจกำลังรอใครคนหนึ่งที่จะมาช่วยแบ่งเบาความหนักอึ้งนี้ หรือมองเห็นเขาที่กำลังจมดิ่ง แล้วมีใครช่วยเขาจากภาวะเหล่านี้ก็ได้

แต่แน่นอนว่า เราเองในฐานะคนใกล้ตัวก็คงทำตัวไม่ถูก ไม่รู้จะรับมือยังไง ไม่รู้จะพูดอะไร ไม่รู้จะอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกหนักหน่วงของเขาแบบนี้ยังไง

มันเลยทำให้ บ่อยครั้งที่เราทำบางอย่างด้วยความตั้งใจดี อยากช่วยเหลือ อยากให้เขาคิดได้ อยากให้เขาปล่อยวาง และเลิกคิดฆ่าตัวตาย แต่…มันดูจะไม่ได้ผล และเหมือนมันไม่ช่วยอะไร จนเราถอดใจที่จะคิดช่วยเขา

เป็นไปได้ไหมว่า การกระทำ หรือคำพูดบางอย่างที่แสดงออกไปนั้น ขาดความระมัดระวัง ขาดความตระหนักและความเข้าใจ แต่กลับคาดหวังให้เขาทำตามสิ่งที่เราหยิบยื่นให้ด้วยความหวังดี ดันกลับได้ผลลัพธ์ที่แย่ลงกว่าเดิม???

เพราะเจตนาดีต้องมาพร้อมความเข้าใจและการกระทำที่รอบคอบ มีคำพูดมากมายที่ผู้พูด พูดออกไปเพราะอยากจะเรียกสติของผู้ที่คิดฆ่าตัวตาย หรือพูดออกไปเพื่อพยายามจะเห็นใจ เข้าใจ แต่มันอาจกลายเป็นคำพูดที่ยิ่งกดดัน ซ้ำเติม และกระตุ้นให้เขาต้องจมดิ่งในความคิดทำร้ายตัวเอง หรือกระทั่งการฆ่าตัวตาย

โพสนี้จึงขอยกตัวอย่างคำพูดที่ควรหลีกเลี่ยง…

1. “เรื่องเล็กแค่นี้เอง คนอื่นเขาเจออะไรหนักกว่าคุณอีก เขายังไม่คิดฆ่าตัวตายเลย” ฟังดูเหมือนคุณจะเข้าใจปัญหาของเขา

แต่สิ่งที่ผู้ฟังได้ยิน คือ “เป็นความผิดของฉัน ที่ฉันอ่อนแอ ไม่เข้มแข็งมากพอ และทนต่อปัญหาที่เข้ามาไม่ได้”

หากคุณจะลองเปลี่ยนเป็นบอกเขาว่า “ปัญหาที่คุณเจอมันหนักมากเลย เรื่องนี้มันเลยทำให้คุณรู้สึกแย่มากๆ คุณอดทน แล้วก็พยายามจะแก้ปัญหาอยู่ แต่มันดูแก้ไม่ได้สักที จนบางทีก็อาจจะไม่อยากจะมีชีวิตอยู่แล้วรึเปล่า”

2. “เอาหน่า อย่าคิดมาก ใจเย็นๆ ” ฟังดูเหมือนคุณกำลังจะปลอบใจเขา

แต่สิ่งที่ผู้ฟังได้ยิน คือ “คุณคงไม่รู้หรอกว่า ฉันอดทนต่อปัญหามานานขนาดไหน”

หากคุณลองเปลี่ยนเป็นบอกเขาว่า “ดูเหมือนคุณจะคิดไม่ตกกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่รู้จะทำยังไง เฮ้อ รู้สึกเหนื่อยใจด้วยจริงๆ”

3. “ฉัน/ผมก็เคยเจอแบบเดียวกับที่คุณเจอเลย ฉัน/ผมก็ยังผ่านมันมาได้เลย ทำไมคุณจะผ่านมันไปไม่ได้ล่ะ” ฟังดูเหมือนคุณพยายามจะให้กำลังใจเขา

แต่สิ่งที่ผู้ฟังได้ยิน คือ “ฉันคงไม่ดีพอที่จะทำได้เหมือนคนอื่นเขาสินะ ฉันเลยผ่านมันไปไม่ได้สักที”

หากคุณลองเปลี่ยนเป็นบอกเขาว่า “ฉัน/ผมก็เคยเจอเรื่องคล้ายๆ กับคุณนะ อาจจะไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียว แต่ก็พอจะเทียบเคียงความรู้สึกได้เลยล่ะว่า มันยากและแย่แค่ไหน ตอนนั้นสิ่งที่ฉัน/ผมจัดการคือแบบนี้ ไม่รู้ว่า วิธีนี้มันจะเหมาะกับสถานการณ์ที่คุณกำลังเผชิญอยู่ไหมนะ”

คำพูดที่สื่อสาร แล้วทำให้คนฟังรู้สึกโดนดูถูกว่า เขาอ่อนแอ การพูดตัดสินความคิด หรือการกระทำว่า เป็นเรื่องที่ไร้สาระ ยิ่งทำให้เขารู้สึกว่า ไม่มีใครยอมรับในตัวตนของเขา ไม่มีใครเข้าใจเขา ไม่มีใครอยู่กับความรู้สึกหนักอึ้งของเขาได้ ความรู้สึกโดดเดี่ยวไร้ค่า และการอยากพ้นจากความรู้สึกเหล่านี้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญ มันกลับผลักให้เขาออกห่างจากการช่วยเหลือของคุณมากขึ้นไปอีก

เจตนาดีที่มากับท่าทีของการอยู่เคียงข้าง รับฟังอย่างเข้าใจ ยอมรับในตัวตน ปราศจากการตัดสิน เอาใจเขามาใส่ใจเรา ทบทวนสิ่งที่จะทำ หรือพูดอะไรออกไป จะช่วยลดการตีตรา เพิ่มการเดินเคียงข้าง และอาจช่วยเป็นเกราะป้องกันการฆ่าตัวตายได้ แล้วคุณจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่นั้น เขาจะกล้าเปิดเผยเรื่องราวที่ถูกเก็บซ่อนไว้ในมุมมืดของใจมานานแสนนานให้คุณได้เห็นว่า มันมีอะไรมากกว่านั้นที่คุณไม่เคยรู้ความซับซ้อนมาก่อนเลยก็เป็นได้

สุดท้ายแล้ว ถ้าคุณไม่รู้จะพูดอะไร ไม่รู้จะปลอบด้วยคำพูดให้แง่คิดแบบไหน หรือไม่รู้จะช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นได้ยังไง แค่นั่งอยู่เป็นเพื่อนเขากับอารมณ์อันหนักอึ้งที่เขากำลังแบกอยู่ ก็ช่วยมากที่จะทำให้เขารู้สึกว่า แม้คุณจะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ แต่การมีเพื่อนเคียงข้างมันสำคัญมากมายเช่นกัน