เรื่องโดย อังครินทร์ ปิมแปง และ ณิชา หลีหเจริญกุล – ภาพโดย ณิชา หลีหเจริญกุล

วันนี้ อารมณ์ไหน?

เราก็คงไม่ต่างกับหลายๆ คนที่โตมาในครอบครัวที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก จำได้ว่า เมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก ถ้าเราโดนแกล้ง เสียใจ หรือไม่ชอบใจอะไรซักอย่าง แล้วเราร้องไห้ แม่จะบอกให้หยุด ไม่ต้องร้องไห้แล้ว หรือบางทีถ้าเรายังไม่หยุดเราเองก็โดนดุต่อว่าซ้ำเข้าไปอีก

ความเสียใจแรกยังไม่ได้รับการปลอบเลย หนำซ้ำยังโดนทำร้ายจิตใจเพิ่มเข้าไปอีก ทีนี้แหละเรายิ่งร้อง ตะเบ็งเสียงดังจนต้องใช้เวลาและพลังงานพักใหญ่เลยกว่าจะสงบลงได้ พอโตขึ้นมาซักหน่อยเมื่อเรามีเรื่องรบกวนใจหรือเสียใจ เราเองก็จัดการกับมันโดยการพยายามกลบมันอยู่ข้างใน หรือการหาอะไรอย่างอื่นมาเบี่ยงเบนความสนใจออกไป ดีบ้าง พังบ้างสลับกันไป

เราไม่ได้จะมาตำหนิผู้ใหญ่หรอกที่เขาไม่ช่วยแถมยังซ้ำเติม เพราะพอเติบโตขึ้น ก็ เข้าใจอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น และเมื่อมองย้อนกลับไป ผู้ใหญ่เหล่านั้นเขาเองก็คงถูกปฏิบัติมาแบบนี้เหมือนกัน มันเลยกลายเป็นรูปแบบวิธีที่คุ้นเคย ทำให้เราเข้าใจความซับซ้อนของชีวิตมนุษย์เพิ่มขึ้น วันที่เราอยู่ในยุคสมัยที่เรื่องของสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย และเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกก็เป็นปัจจัยพื้นฐานของสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่บริบูรณ์ เรามองว่า เรื่องของสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ป้องกันดีกว่ามาแก้ไขภายหลังเป็นไหนๆ

Self Check เลยอยากจะชักชวนกันมาเรียนรู้ สำรวจ และรู้จักตัวเองไปด้วยกัน โดยครั้งนี้เราจะมาเสนอเนื้อหาเรื่องอารมณ์ หรือ Emotions

เป็นผู้ชายห้ามร้องไห้”

ถ้าไม่อยากให้ใครเห็นว่า เธอเป็นฝ่ายแพ้ ก็จงทำตัวเหมือนเธอไม่รู้สึกอะไร”

เรื่องแค่นี้ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป มองไปข้างหน้าดีกว่าจมอยู่กับอดีต”

คำพูดข้างต้นและอีกมากมายที่เราหลายคนคงเคยได้ยิน เราเองอาจเป็นคนที่พูดประโยคเหล่านี้ออกไปออกไป หรืออาจจะเป็นคนอื่นที่พูดออกมาด้วยเจตนาดี อยากจะปลอบใจ หากแต่เมื่อพิจารณาลงไปลึกๆแล้วจะเห็นว่าคำพูดดังกล่าวกำลังบอกว่าการแสดงออกทางอารมณ์เป็นการแสดงความอ่อนแอ บางคนอาจเคยได้ยิน หรือถูกปลูกฝังให้มีค่านิยมว่า คนที่ไม่แสดงความรู้สึกเป็นคนเข้มแข็ง คนที่ร้องไห้เป็นคนอ่อนแอ คนที่โกรธ โมโห หงุดหงิด โวยวาย เป็นคนก้าวร้าวไม่มีวุฒิภาวะ คนที่กลัวเป็นคนไม่กล้าหาญ ค่านิยมเหล่านี้ทำให้เกิดความเข้าใจว่า “ฉันต้องเก็บอารมณ์และห้ามแสดงความรู้สึกออกมา”

สมาคมจิตวิทยาประเทศสหรัฐอเมริกาได้ให้คำจำกัดความของคำว่า อารมณ์ ดังนี้ อารมณ์คือรูปแบบของปฏิกิริยาตอบสนองที่ซับซ้อน ที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์นั้นๆ ปฏิกิริยาทางร่างกาย และการตอบสนองในรูปแบบพฤติกรรม ทำหน้าที่เป็นกลไกการจัดการกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

ซึ่งประสบการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นอารมณ์ต่างๆ นั้น จะขึ้นอยู่กับแต่ละคน เช่น A และ B มีเหตุให้ต้องออกจากงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 A อาจจะรู้สึกเครียดมาก ในขณะที่ B อาจจะรู้สึกโกรธ ซึ่งทั้งสองคนมีสิทธิ์ที่จะรู้สึกแบบนั้น และควรอนุญาตให้ตัวเองได้รับรู้ถึงอารมณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ เราไม่ควรเปรียบเทียบ หรือตัดสินว่า ทั้ง A และ B ควรจะรู้สึกยังไง

หลายคนคงเข้าใจอาการมือสั่น หัวใจเต้นรัวๆ เมื่อเรารู้สึกประหม่า ต้องพรีเซ็นต์งานต่อหน้าคนเยอะๆ อุตส่าห์เตรียมตัวมาอย่างดี ฝึกพูดหน้ากระจก จดจำเนื้อหาสำคัญๆ ฝึกการตอบคำถามที่คนฟังอาจจะถามได้ แต่พอถึงวันจริง เกิดอาการตื่นเต้นมาก ใจเต้นเร็วจนเหมือนมันจะกระโดดออกมาข้างนอกได้ มือสั่น เหงื่อออกท่วมตัว จนแล้วจนรอดสิ่งที่เตรียมมาก็ลืมเหมือนถูกกลืนหายไปในกลีบเมฆ ปฏิกิริยาทางด้านร่างกายเหล่านี้ คือการตอบสนองต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นในระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งมีหน้าที่ในการเอาตัวรอดหรือการอยู่รอดของมนุษย์นั่นเอง

หน้าที่อย่างหนึ่งของอารมณ์มีไว้เพื่อช่วยให้เราอยู่รอด เราพึ่งพาอารมณ์เพื่อคอยเตือนให้รู้ว่า อันตรายกำลังเข้ามา เราจะมีวิธีตอบสนองอัตโนมัติ 3 อย่าง ได้แก่ สู้ หนี นิ่ง นอกจากช่วยให้อยู่รอดแล้ว อารมณ์ยังมีผลกับการตัดสินใจในการใช้ชีวิต เป็นแรงผลักดันให้เราทำบางอย่าง อารมณ์ช่วยให้คนอื่นเข้าใจความรู้สึกเรา และช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกคนอื่นเช่นกัน

มาถึงตรงนี้ ก็น่าจะรู้จักกับอารมณ์แบบคร่าวๆ กันแล้ว หวังว่า ทุกคนจะตระหนักถึงความสำคัญของอารมณ์ และหันมาใส่ใจ ทำความรู้จักอารมณ์ของตนเอง และของคนรอบตัวเรายิ่งขึ้น

Self Check อยากชวนมาทำความเข้าใจเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกผ่านตัวอย่างนี้กัน

“เห้ยยยย…ติดยังวะเนี่ยยยยย?”

A กรีดร้องถามตัวเองในใจ เพราะเพิ่งได้ข่าวว่า มีคนในบ้านของ A ไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีเชื้อโควิด เรื่องมีอยู่ว่า A อยู่บ้านกับสามีและน้องชายสามี ปกติน้องชายไม่ค่อยได้เจอ A และพี่ชายตัวเองเท่าไหร่ เย็นวันหนึ่งน้องชายส่งข้อความมาบอกพี่ชายว่า มีคนในบริษัทสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด เมื่อรู้ดังนี้ หลังจากบอก A แล้ว สามีก็ลงไปเคาะประตูถามไถ่น้องชาย แล้วกลับขึ้นมาเล่าให้ A ฟัง ไม่ทันที่ A จะได้ฟังสิ่งที่สามีเล่า A ต่อว่าสามีว่า ลงไปคุยกับน้องชายทำไม ในเมื่อรู้แล้วว่า น้องชายอยู่ใกล้กับคนที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด คืนนั้น A เครียดมากจนคิดจะกลับไปนอนบ้านแม่ตัวเอง แล้วปล่อยให้สามีอยู่กับน้องชายกันไปสองคน แต่เมื่อผลการตรวจโควิดจากคนในบริษัทคนนั้นออกมาเป็นลบ ก็แปลว่า A สามี และน้องชายสามีปลอดภัย

ลองมาเขย่ากันดูว่า A รู้สึกอะไร ร่างกายตอบสนองต่อความรู้สึกเหล่านั้นยังไง และพฤติกรรมที่มีต่อความรู้สึกเหล่านั้นคืออะไรบ้าง *บางคนอาจเหมือนหรือต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์แต่ละบุคคลนะคะ*

เห็นตัวอย่างของ A ไปแล้ว ทีนี้อยากชักชวนผู้อ่านให้ลองกลับมาสำรวจอารมณ์ของตัวคุณเองด้วยกันค่ะ เราจะมาสำรวจตัวเองใน 3 ด้านด้วยกันนะคะ

เริ่มจาก

  1. การสำรวจอารมณ์ที่กำลังรู้สึกอยู่ และมองหาเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นอารมณ์นั้น ๆ เราสามารถสำรวจตรวจสอบได้ทั้งอารมณ์ด้านบวกเช่น ความสุข สนุก ชื่นชมยินดี สันติสุข และอารมณ์ด้านลบ เช่น เศร้า เสียใจ โกรธ หงุดหงิด เมื่อรู้จักและเข้าใจอารมณ์และเหตุการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นแล้ว เราจะมาสู่กระบวนการสำรวจอารมณ์ตัวเองกันต่อเลยโดย
  2. การสังเกตปฏิกิริยาทางด้านร่างกาย ลองฝึกฟังเสียงการเต้นของหัวใจว่ามันเร็วขึ้นมั้ย ลองสังเกตจังหวะการหายใจของตัวเองว่าถี่ขึ้น หรือสั้นลง มีอาการแน่นหน้าอก มวนท้องรึเปล่า อาการต่างๆ เหล่านี้ อาจจะเหมือนกันบ้าง ต่างกันไปก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ขั้นตอนสุดท้ายของ self check ตระหนัก รู้จักตนเอง เข้าใจอารมณ์ตัวเอง ให้ลอง
  3. สังเกตพฤติกรรมตอบสนองต่ออารมณ์นั้นๆ เช่น คุณมักจะเก็บความรู้สึกไว้ในใจอยู่คนเดียวเมื่อมีเรื่องให้ไม่สบายใจ  หรือว่า คุณมักจะขึ้นเสียง ตำหนิ ต่อว่าเมื่อกำลังหงุดหงิด

อ่านกันยาวมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงได้รู้จัก และเข้าใจอารมณ์ของตัวเองแล้วว่ามันมีพลังขนาดไหน และอารมณ์สำคัญยังไงต่อพฤติกรรม คิดว่าแต่ละคนคงไม่อยากให้อารมณ์ลบๆ มันเอ่อล้นจนทะลักออกมาเป็นภัยต่อตัวเองและคนที่เรารักกันอย่างแน่นอน

Self check จึงอยากชวนกันมาเรียนรู้ และฝึกฝนการรับมืออารมณ์เบื้องต้น

โดยลองใช้ตัวอย่างของ A ที่วิตกกังวล และกลัวติดเชื้อโควิด

วิธีรับมือกับอารมณ์เบื้องต้น

ถ้าคุณเป็น A คุณจะทำยังไง จะรับมือกับความรู้สึกกลัว วิตกกังวล ยังไงได้บ้าง

วิธีที่หนึ่ง ลองหยุดนิ่งสักครู่ ฝึกการหายใจ หรือจดจ่อกับการทรงสถิตอยู่ของพระเจ้า

  1. นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย ผ่อนคลาย
  2. ตรวจเช็คร่างกายว่า ส่วนไหนตึง เกร็ง หรือปวด จากนั้นวางมือไว้ที่ส่วนนั้น เช่น แน่นหน้าอก หรือปวดหัว
  3. เริ่มต้นด้วยการหายใจเข้าลึกๆ กลั้นเอาไว้ แล้วนับ 1-2-3-4 จากนั้นหายใจออกช้า ๆ ยาว ๆ พร้อมกับนับ 1-2-3-4-5-6
  4. ลองปรับการนับเลขเป็นการอธิษฐาน เช่น หายใจเข้าลึกๆ กลั้นเอาไว้พร้อมกับพูดในใจว่า “จงนิ่งเสีย” จากนั้นหายใจออกช้าๆ ยาวๆ พร้อมกับพูดในใจว่า “และรู้เถิดว่า เราคือพระเจ้า” หรือข้อพระคัมภีร์อื่นๆ ที่เราชอบ
  5. ชวนให้ทำซ้ำ ข้อ 2-4 จนรู้สึกว่า ความกังวลในร่างกายสงบลง

วิธีที่สอง ลองสังเกตอารมณ์และความคิดผ่านการเขียน เพื่อระบายและช่วยแยกความคิดกับความรู้สึกรบกวนใจออกมา เหมือนยกเอาเรื่องในหัวออกมาไว้ข้างนอก แล้วทบทวนสังเกตเรื่องเหล่านี้ในฐานะบุคคลที่สาม จะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น และเข้าใจตัวเองมากขึ้น หรืออาจจะเขียนเป็นคำอธิษฐานที่เหมือนเรากำลังเล่าเรื่องให้พระเจ้าฟังก็ได้

  1. หาสมุดบันทึกซักเล่ม
  2. เขียนบรรยายเรื่องรบกวนใจ แล้วถามตัวเองว่า
    1. ฉันรู้สึกอะไร
    2. เพราะอะไรทำให้ฉันรู้สึกแบบนั้น
    3. ฉันต้องการอะไร
    4. เพราะอะไรฉันจึงต้องการแบบนั้น
    5. สิ่งที่ฉันต้องการนั้นเพื่ออะไร / ความต้องการนี้จะตอบโจทย์หรือเป้าหมายอะไรในใจฉัน

วิธีที่สาม ลองแบ่งปันประสบการณ์กับคนที่เข้าใจหรือผู้รับฟังที่ดี เพราะ…

  1. ความสัมพันธ์ที่ดีสร้างบรรยากาศอารมณ์ด้านบวก
  2. การเล่าความทุกข์ใจให้คนที่เข้าใจและยอมรับในความรู้สึกของเราฟังก็เป็นช่วยคลายความกังวล และความกลัวได้อย่างวิเศษทีเดียว มันเหมือนเป็นการยกภูเขาหนักๆ ออกจากอก เราไม่ต้องแบกมันไว้คนเดียวอีกต่อไป

มาถึงตอนท้ายของ Self Check ตอน “วันนี้ อารมณ์ไหน?” กันแล้ว หวังว่า ทุกคนจะหันมาใส่ใจ และทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเองเพื่อเกิดการตระหนัก รู้จักตนเองมากขึ้นนะคะ

อ้างอิง

https://dictionary.apa.org/emotion

Cherry, K. (2019, July 17). Emotions and Types of Emotional Responses. In verywellmind.com. Retrieved from https://www.verywellmind.com/what-are-emotions-279517